Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

โรคกระดูกพรุนในวัยทอง รู้ทันป้องกันได้

2 ส.ค. 2562



   เมื่อเวลาผ่านไป อายุเริ่มมากขึ้น ความแข็งแรงของกระดูกย่อมเสื่อมถอยลง การดูแลใส่ใจควรมีมากขึ้น แต่คนส่วนใหญ่จะไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะเป็นสิ่งที่คิดว่าไกลตัว ไม่มีความรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลง กว่าจะรู้ได้ก็เมื่อกระดูกพรุนและเกิดการสึกหรอเกินกว่าจะดูแล โดยเฉพาะสตรีวัยหมดระดูจะเป็นช่วงที่มีการสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็ว ซึ่งในวัยหมดระดูจะมีการลดลงของฮอร์โมนเพศหญิงที่มีชื่อว่า “เอสโตรเจน”
   ภาวะกระดูกพรุนในระยะแรกมักไม่มีอาการ จึงเปรียบเสมือนภัยเงียบที่รอเวลาที่พร้อมจะทำให้กระดูกหักด้วยแรงกระทำเพียงเล็กน้อย เช่น หกล้ม เป็นต้น การมีกระดูกหักที่กระดูกสันหลัง หรือกระดูกสะโพก จะทำให้เกิดความพิการ คุณภาพชีวิตแย่ลง และบางครั้งอาจจะสูญเสียชีวิตได้ ดังนั้น ภาวะกระดูกพรุนนับเป็นปัญหาสำคัญ ในทางสาธารณสุข ประเทศไทยเป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะกระดูกพรุน

   แม้โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่พบได้กับทุกเพศทุกวัยและพบมากขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น ถ้าหากเรารู้ถึงปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน จะช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพและช่วยป้องกันการเกิดหรือลดความรุนแรงของโรคกระดูกพรุนได้

  • ปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้
  • เพศหญิงตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป
  • มีรูปร่างผอมบาง
  • เคยผ่าตัดรังไข่ทั้งสองข้างก่อนอายุ 45 ปี เนื่องจากขาดฮอร์โมนเพศ จึงเริ่มสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็ว
  • ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถปรับเปลี่ยนได้
  • การบริโภคแคลเซียมไม่เพียงพอ
  • สูบบุหรี่ สารพิษนิโคตินเป็นตัวทำลายเซลล์สร้างมวลกระดูกทำให้กระดูกบางลง
  • ดื่มกาแฟ ชา แอลกอฮอล์มากกว่า 3 แก้วต่อวัน หรือน้ำอัดลมมากกว่า 4 กระป๋องต่อสัปดาห์
  • ได้รับยากลุ่มสเตียรอยด์นานเกิน 3 เดือน มีภาวะเสี่ยงต่อการหกล้ม
  • ขาดการออกกำลังกาย

การวินิจฉัยภาวะกระดูกพรุน ใช้ผลการตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูกด้วยวิธี Dual Energy X-ray Absorptiometry (DEXA)
การรักษาภาวะกระดูกพรุน แบ่งเป็น 2 วิธี คือ

  1. การรักษาโดยไม่ใช้ยา โดยลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่กล่าวไปแล้ว และเน้นภาวะโภชนาการที่มีแคลเซียม และวิตามินดีที่เพียงพอต่อร่างกาย การออกกำลังกาย นอกจากจะช่วยสร้างกระดูกแล้ว ยังเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ข้อต่อ ตลอดจนช่วยเรื่องการทรงตัวด้วย
  2. การรักษาโดยใช้ยา มีหลากหลายชนิด ขึ้นอยู่กับแพทย์ที่ดูแล และพิจารณาถึงประสิทธิภาพ ผลข้างเคียง และความสะดวกในการใช้ยาของผู้ป่วย

รู้ทันป้องกัน ก่อนสาย...!!!

  • รับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ โดยเฉพาะแคลเซียมและวิตามินดีซึ่งเป็นแร่ธาตุสำคัญในการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • งดสูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์รวมถึงสารคาเฟอีน เนื่องจากมีผลทำลายกระดูก
  • ตรวจร่างกายเป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่ออายุมากกว่า 50 ปีควรเข้ารับการตรวจวัดกระดูกเพื่อป้องกันการเสื่อมแต่เนิ่นๆ

   ดังนั้นการป้องกันคือทางเลือกที่ดีที่สุด สตรีทุกท่านควรตระหนักว่าภาวะกระดูกพรุนเป็นภัยเงียบ เราควรดูแลสุขภาพของกระดูกตั้งแต่เด็ก หรือก่อนวัยหมดระดู หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงและควรได้รับการตรวจคัดกรองกระดูกพรุนในสตรีกลุ่มเสี่ยง ได้รับการดูแลรักษาป้องกันกระดูกหักที่มีประสิทธิภาพ
สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ. นพดล จันทรเทพเทวัญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติศาสตร์ - นรีเวช
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.